โรงพยาบาลสระบุรี ถูกไวรัสเรียกค่าไถ่ (Ransomware) เล่นงาน

โรงพยาบาลสระบุรี ถูกไวรัสเรียกค่าไถ่ (Ransomware) เล่นงานกระทรวงสาธารณะสุขออกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 กรณีโรงพยาบาลสระบุรีถูกโจมตี ทางไซเบอร์ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563 โดยไวรัสเรียกค่าไถ่ (Ransomware) ซึ่งมีการโจมตีในหลายระบบ   รวมถึงฐานข้อมูลของระบบบริการผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลประวัติเก่าหรือให้บริการออนไลน์ได้

ผู้ใช้งาน Blockdit “หมอสายดาร์ก” อ้างว่าได้รับข้อมูลจากหมอที่อยู่ในโรงพยาบาล (ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ) ระบุว่าแฮกเกอร์ได้เรียกร้องค่าไถ่เป็นสกุลเงิน Bitcoin เป็นจำนวน 200,000 BTC หรือราว ๆ 60,000 ล้านบาท และระบุว่าโรงพยาบาลไม่ได้มีการสำรองข้อมูลสม่ำเสมอ ซึ่งข้อมูลที่สำรองไว้ล่าสุดคือเมื่อปี 2558 ทำให้ไม่สามารถใช้งานข้อมูลนั้นได้

ด้าน ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ กล่าวว่า ได้ประสานไปยังศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต : ThaiCERT) ทันทีที่ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลสระบุรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 และได้สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับจัดทำระบบข้อมูลพร้อมทั้งให้คำแนะนำกับทางโรงพยาบาลแล้ว
 
Ransomware หรือไวรัสเรียกค่าไถ่ เป็นมัลแวร์ (Malware) ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกับมัลแวร์ประเภทอื่นๆ คือไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้งานหรือเหยื่อแต่อย่างใด แต่จะทำการเข้ารหัสหรือล็อกไฟล์ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เอกสาร รูปภาพ วิดีโอ ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเปิดไฟล์ใด ๆ ได้เลยหากไฟล์เหล่านั้นถูกเข้ารหัส ซึ่งการถูกเข้ารหัสก็หมายความว่าจะต้องใช้คีย์ในการปลดล็อคเพื่อกู้ข้อมูลคืนมา ผู้ใช้งานจะต้องทำการจ่ายเงินตามข้อความ “เรียกค่าไถ่” ที่ปรากฏ
 
ช่องทางการแพร่กระจายของ Ransomware

1.แฝงมาในรูปแบบเอกสารแนบทางอีเมล (Phishing emails)
        Ransomware ส่วนใหญ่จะแพร่กระจายผ่านทางอีเมล โดยจะปลอมแปลงผู้ส่งเป็นอีเมลของผู้ให้บริการที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น ธนาคาร, ผู้ให้บริการอีเมล หรือ ผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะมีการใช้หัวข้อหรือเนื้อหาอีเมลที่ดูน่าเชื่อถือ จนผู้ใช้งานหลงคิดว่าเป็นอีเมลของผู้ให้บริการนั้นจริง ๆ และหลอกให้ผู้ใช้งานคลิก Link หรือดาวน์โหลดเอกสารไฟล์แนบ เพื่อทำการแพร่กระจายไวรัส

2. การเข้าถึงเว็บไซต์อันตราย (Strategic web compromise)
        ผู้ใช้สามารถกลายเป็นเหยื่อได้โดยไม่ได้ตั้งใจเพียงแค่เข้าถึงหน้าเว็บไซต์ที่ถูกควบคุมและทำการฝังสคริปต์หรือโค้ดอันตรายไว้โดยแฮกเกอร์ เมื่อผู้ใช้ทำการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ดังกล่าวสคริปต์คำสั่งก็จะเริ่มทำงาน และดาวน์โหลดไวรัส Ransomware เพื่อติดตั้งบนเครื่องเป้าหมายทันที

3. การดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ (Drive-by download)
        Ransomware อาจแฝงอยู่ในซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ เมื่อผู้ใช้ทำการดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์เหล่านั้น ก็มีโอกาสที่จะติดตั้ง Ransomware ลงบนเครื่องด้วยเช่นกัน

4. เครื่องเป้าหมายมีช่องโหว่ (Exploiting vulnerabilities in Internet-accessible systems)
        อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้ถูกโจมตีด้วย Ransomware คือช่องโหว่ หากเครื่องเป้าหมายมีช่องโหว่ อาจถูกใช้เป็นช่องทางให้แฮกเกอร์ใช้เพื่อโจมตีได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการ ช่องโหว่ของซอฟต์แวร์หรือช่องโหว่ของเว็บเบราวเซอร์ต่างๆ เป็นต้น

 
วิธีป้องกัน

1. ดำเนินการกำหนดและจัดทำบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศของบุคลากรขององค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในขอบเขต

2. ดำเนินการอัพเดตแพตช์ความปลอดภัยบนระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ แม้กระทั่งเว็บเบราวเซอร์และส่วนเสริมหรือส่วนขยายที่ใช้งานก็ต้องทำการอัพเดตเป็นประจำ

3. ดำเนินการติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ (Anti-malware) ลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ และทำการอัพเดตฐานข้อมูลมัลแวร์เป็นประจำ
 
4. ควรพิจารณาก่อนที่จะคลิก Link หรือดาวน์โหลดไฟล์แนบจากอีเมลต้องสงสัย หากไม่มั่นใจ ให้ติดต่อหน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรให้ช่วยตรวจสอบก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ
 
5. ดำเนินการสำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งหากเป็นข้อมูลสำคัญที่ส่งผลต่อความเสียหายขององค์กร ควรทำการสำรองข้อมูลทุกวัน ซึ่งการสำรองข้อมูลที่ดี ควรที่จะสำรองและจัดเก็บข้อมูลไว้ทั้งภายในและภายนอกของระบบเครือข่าย โดยเหตุผลที่ต้องสำรองไว้นอกเครือข่ายด้วยก็คือ Ransomware ส่วนใหญ่สามารถแพร่กระจายภายในเครือข่ายได้ด้วยตัวเองได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่สำรองไว้ถูกเข้ารหัสไปด้วย จึงควรสำรองข้อมูลไว้ภายนอกเครือข่ายอีกชั้นหนึ่ง
 
6. ดำเนินการตรวจประเมินความสอดคล้อง (Gap Analysis) ตามมาตรฐาน ISO27001:2013
 
7. ดำเนินการจัดทำแนวนโยบาย แนวปฎิบัติ ด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
 
8. ดำเนินการตรวจประเมินด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เช่น การทำ Vulnerability Scan (VA) และ การทดสอบเจาะระบบ (Penetration Test) เป็นประจำสม่ำเสมอ
 
        ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ก็ไม่สามารถป้องกันไวรัส Ransomware ได้ 100% เนื่องจากป้องกันได้ยาก เพราะมีช่องทางการโจมตีที่หลากหลาย สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความตระหนักให้บุคคลากรภายในองค์กร โดยการจัดอบรมในด้าน การสร้างความตระหนักด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Security Awareness) รวมไปถึงการติดตามข่าวสารช่องโหว่หรือภัยคุกคามต่าง ๆ และศึกษาวิธีป้องกันก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี
 
แหล่งอ้างอิง

1. https://www.sanook.com/news/8248818/

 
 
ผู้เขียน :นายณัฐพงษ์ การทำนา
ผู้ตรวจทาน : นาย เจษฎา ทองก้านเหลือง
เผยแพร่ : วันที่ 10 กันยายน 2563