เรือนจำป่วน!!  โดนแฮกกล้องวงจรปิด CCTV ถูกเผยแพร่สดออนไลน์

CCTV

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ได้มีข่าวกรณี YouTube channel ที่ใช้ชื่อว่า “Big Brother ‘s Gaze” ได้ทำการเผยแพร่ภาพกล้องวงจรปิดภายในเรือนจำอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยเป็นการไลฟ์สดเพื่อเปิดเผยให้เห็นชีวิตประจำวันและสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษภายในเรือนจำของประเทศไทยนั้น ดังภาพ

ภาพที่เปิดเผยภาพชีวิตประจำภายในเรือนจำ CCTV อ้างอิง www.komchadluek.net
 
ปัจจุบันในท้องตลาดมีบริการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่หลากหลายและมีการแข่งขันที่สูง กล้องที่ขายในตลาดส่วนใหญ่มีฐานการผลิตที่จีน ทำให้หาซื้อง่ายและราคาถูก ซึ่งกล้องบางยี่ห้อที่มีราคาขายต่ำกว่าตลาด อาจเป็นกล้องที่ไม่มีมาตรฐานหรือไม่มีคุณภาพเพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของการถูกแฮกหรือโจรกรรมข้อมูลได้
 
จากการคาดการณ์ มีความเป็นไปได้ที่ระบบกล้องวงจรปิดจะถูกแฮกได้จริง โดยอาจมีช่องทางการเข้าถึงกล้องวงจรปิดที่หลากหลาย เบื้องต้นดังนี้
 
1. ระบบกล้องวงจรปิด ได้มีการเปิดให้เข้าถึงได้จากภายนอก
เพื่อความสะดวกสบาย ระบบกล้องวงจรปิดส่วนใหญ่ มีการเปิดให้เข้าถึงผ่านระบบออนไลน์ได้ (สะดวกในการใช้ดูจากภายนอกผ่านมือถือ) ในกรณีนี้ถือว่าค่อนข้างอันตราย หากไม่มีการทำ Access Control List (ACL) อย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ไม่ประสงค์ดีอาจมีเครื่องมือที่สามารถค้นหาหมายเลขไอพีของกล้องวงจรปิดที่ออนไลน์อยู่ในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่าย
 
2. ระบบกล้องวงจรปิด มีการตั้งค่ารหัสผ่านที่ไม่ปลอดภัย
ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ หลังจากติดตั้งกล้องวงจรปิดเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้าถึง โดยอาจใช้งานการตั้งค่ารหัสผ่านจากโรงงาน กล่าวคือ กล้องวงจรปิดที่ออกมาจากโรงงาน มีการกำหนดบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านไว้อย่างไร ก็ใช้อย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านให้เป็นของตนเอง ซึ่งตรงนี้เป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถใช้รหัสผ่านจากโรงงานในการเข้าถึงระบบกล้องวงจรปิดของผู้ใช้ได้หรือหากผู้ใช้งานมีการกำหนดรหัสผ่านใหม่แล้ว แต่ยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ ผู้ไม่ประสงค์ดีก็สามารถสุ่มคาดเดารหัสผ่านที่ใช้เข้าระบบได้เช่นกัน
 
3. ซอฟต์แวร์กล้องวงจรปิดที่มีช่องโหว่
ซอฟต์แวร์กล้องวงจรปิดที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีช่องโหว่ ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถข้ามผ่านการพิสูจน์ตัวตน (Authentication Bypass) กล่าวคือ ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจสามารถเข้าถึงระบบเพื่อดูกล้องวงจรปิดได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุบัญชีผู้ใช้หรือรหัสผ่าน
 
4. เครื่องเซิร์ฟเวอร์มีช่องโหว่
ในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีกล้องวงจรปิดเป็นจำนวนมาก จะใช้วิธีติดตั้งซอฟต์แวร์ของกล้องลงบนเซิร์ฟเวอร์(อาจเป็น Windows หรือ Linux ) เพื่อใช้เฝ้าระวังเหตุการณ์แบบเรียลไทม์และง่ายต่อการบริหารจัดการ
หากเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นมีช่องโหว่เป็นช่องให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งมีช่องทางหลากหลาย เช่น
• การเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์โดยการควบคุมเดสก์ท็อปจากระยะไกล Remote Desktop Protocol (RDP)
• การเข้าถึงไฟล์ภายในเซิร์ฟเวอร์ผ่านโปรโตคอลที่ชื่อว่า File Transfer Protocol (FTP) เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่ภายในเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งข้อมูลนั้นอาจเป็นบันทึกกล้องวงจรปิดย้อนหลัง เป็นต้น
• การควบคุมเซิร์ฟเวอร์ผ่านช่องโหว่ Remote Code Execution  (RCE) เพื่อสั่งให้เครื่องเป้าหมายส่งผ่านไฟล์ข้อมูลไปยังเครื่องที่ผู้ไม่ประสงค์ดีเตรียมไว้ได้ เช่น สั่งให้ส่งไฟล์บันทึกกล้องวงจรปิดย้อนหลัง ไปยังเครื่องที่ผู้ไม่ประสงค์ดีเตรียมไว้ เป็นต้น
 
5.ข้อมูลกล้องวงจรปิดถูกเผยแพร่หรือประกาศขายผ่านเว็บออนไลน์
ข้อมูลสำคัญในการเข้าถึงระบบกล้องวงจรปิดขององค์กรอาจถูกเผยแพร่จากทั้งบุคคลภายในและภายนอก โดยอาจมีการแจกจ่ายเพื่อให้องค์กรเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เช่น มีผู้ไม่ประสงค์ดีประกาศขายชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านในการเข้าสู่ระบบกล้องวงจรปิดขององค์กรภายในประเทศไทยผ่าน Deep & Dark Web เป็นต้น
  
แนวทางการป้องกัน
1. ดำเนินการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงหรือเชื่อมต่อระบบกล้องวงจรปิดจากภายนอก (เครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ให้สามารถเข้าถึงได้เฉพาะหมายเลขไอพีที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
2. ดำเนินการตั้งค่าการเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network: VPN) ในการเข้าถึงหรือเชื่อมต่อระบบกล้องวงจรปิดจากภายนอก
3. ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านจากโรงงานที่ใช้ในการเข้าสู่กล้องวงจรปิด
4. ดำเนินการตั้งค่าบัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านให้ยากต่อการคาดเดา
5. ดำเนินการอัพเดตซอฟต์แวร์กล้องวงจรปิดอย่างสม่ำเสมอ
6. ดำเนินการอัพเดตเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์กล้องวงจรปิดเพื่อใช้ในการบริหารจัดการอย่างสม่ำเสมอ
7. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกล้องวงจรปิดที่มีมาตรฐานรองรับ
8. ดำเนินการเพิ่มหัวข้อการตรวจสอบหาช่องโหว่ (Vulnerability Assessment) ลงในเนื้อหาขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) ในการจัดซื้อจัดจ้างกล้องวงจรปิด
 
เครื่องมือ (Tools)
ตัวอย่างการใช้เครื่องมือออนไลน์ในการค้นหาหมายเลขไอพีของกล้องวงจรปิดที่เปิดให้เข้าถึงได้ผ่านระบบเครือข่ายโดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า “shodan” เว็บไซต์ www.shodan.io ดังภาพ
 

ภาพที่แสดงคำค้นหาบนเว็บไซต์ www.shodan.io ด้วยคำว่า “ip camera country:th”

ภาพที่แสดงคำค้นหาบนเว็บไซต์ www.shodan.io ด้วยคำว่า “cctv country:th”

ภาพที่แสดงคำค้นหาบนเว็บไซต์ www.shodan.io ด้วยคำว่า “camera country:th”

ผู้เขียน :   นาย เจษฎา ทองก้านเหลือง

เผยแพร่ : วันที่ 25 ธันวาคม 2562